Digital Asset

สรุปกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล การกำกับผู้ทำธุรกิจและการเก็บภาษีบุคคล เริ่มใช้ 14 พ.ค. 61 | TIF

สารบัญ (มีไว้หน่อย เพราะเนื้อหายาว)

1. พระราชกำหนด และราชกิจจานุเบกษาคืออะไร
2. นิยามที่สำคัญ และธุรกิจที่เข้าข่ายกฎหมายนี้
3. ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐเน้นควบคุม
4. โทษอาญา
5. แนวทางสำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วก่อนหน้า
6. สรุปใจความฝั่งผู้ออก ICO และผู้ประกอบธุรกิจด้านนี้
7. สรุปเกณฑ์ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วในวันที่ 13 พ.ค. 2561 โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นคือ จะมีผลบังคับใช้แทบจะทันที คือตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2561 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกกฎหมายนี้ให้สั้นลงว่า “พ.ร.ก.ฯ” โดยการที่ห้อย “ฯ” ก็เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึง พ.ร.ก.นี้เป็นการเฉพาะ ไม่ได้หมายถึง พ.ร.ก. อื่นใด /T

แต่ก่อนจะที่จะไปถึงการสรุปพ.ร.ก.ฯ ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า “พระราชกำหนด” คือกฎหมายลักษณะใด ต่างจาก “พระราชบัญญัติ” อย่างไร และ “ราชกิจจานุเบกษา” คืออะไร

  • พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือ emergency decree เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารในสถานการณ์อันมีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ โดยมีอำนาจบังคับเช่นพระราชบัญญัติ ซึ่งจะมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาร่างและให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจึงจะนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้บังคับ โดยไม่ต้องนำเสนอร่างให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ส่วน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับทั่วไป เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีฐานะสูงกว่าบทกฎหมายอื่น ๆ รวมถึงพระราชกำหนด แต่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งการออกพระราชบัญญัติต้องได้รับคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้.. โดยสรุปคือ พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่มีกระบวนการออกใช้ได้ในเวลาไม่นาน เพื่อใช้ในสถานการณ์เร่งด่วนจำเป็นของประเทศ
  •  ราชกิจจานุเบกษา หรือ Royal Thai Government Gazette เป็นศูนย์รวมคำประกาศของทางราชการ และใช้ในการแจ้งประกาศ กฎหมาย และคำสั่งทางราชการให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการ โดยกฎหมายต่าง ๆ จะระบุว่าเมื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วกี่วันจึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งในกรณีของกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลคือเพียง 1 วัน .. สมกับที่เป็นพ.ร.ก.

ทีนี้ก็มาเข้าเรื่องกฎหมายนี้ได้แล้วล่ะครับ /I

1. เหตุผลที่ภาครัฐต้องเร่งออกกฎหมายนี้ ได้มีอธิบายไว้ในพ.ร.ก.ฯ โดยสรุปว่า

  • ปัจจุบันได้มีการนําคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุน แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กํากับหรือควบคุมการอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศและเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
  • ดังนั้น เพื่อกําหนดให้มีการกํากับและควบคุม อันจะเป็นการสนับสนุนและอํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ และป้องกันการหลอกลวงประชาชนหรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม
  • เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วน จึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้

2. นิยามที่สำคัญ เพื่อให้รู้ว่าอะไร และใคร เข้าข่ายตามพ.ร.ก.ฯ บ้าง (มาตรา 3) ซึ่งอันนี้จะยกมาเลยนะครับ สรุปย่อไม่ได้ เดี๋ยวขาดใจความสำคัญ โดยเฉพาะ Bullet สุดท้ายของข้อนี้ จะบอกเลยว่าธุรกิจแบบไหนที่เข้าข่าย

  • คริิปโทเคอร์เรนซี: หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนด
  • โทเคนดิจิทัล: หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ กําหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กําหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนด
  • สินทรัพย์ดิจิทัล:  คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล
  • ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล: การประกอบธุรกิจตามประเภทดังต่อไปนี้
    • ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
    • นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
    • ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล
    • กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.


(ตัวอย่างหน้าจอเว็บไซต์ของผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ)

3. ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายฟอกเงิน (มาตรา 6) .. ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจนี้ต้องไปเกี่ยวข้องกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ด้วย

4. การออก ICO ที่ระดมทุนเป็นเงินคริปโต (ไม่ใช้เงินบาท) ต้องทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.ก.ฯ เท่านั้น (มาตรา 9) /F

5. ภาครัฐสามารถเก็บค่าธรรมเนียมในการออก ICO ได้ด้วย(มาตรา 10 วรรค 2)

6. การออก ICO จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และให้นิติบุคคลประเภท บจ. และ บมจ. เป็นผู้ออก ICO ได้เท่านั้น และต้องยื่น Filing ตามเกณฑ์ ก.ล.ต. ด้วย (มาตรา 17 วรรค 1 ) ยกเว้นถ้า กล.ต. มีการกำหนดประเภท ICO บางลักษณะที่ไม่ต้องอิงตามพ.ร.ก.ฯ ก็ไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายนี้ (แต่ก็จะต้องดำเนินการตามเกณฑ์อื่นแทน) (มาตรา 16) รวมถึง มีผลกับโทเคนดิจิทัลที่มีการออกไว้แล้วและกำลังเตรียมจะทำ ICO ด้วย (มาตรา 17 วรรค 2)

โดยระหว่างรอ ก.ล.ต. ออกเกณฑ์สืบเนื่องจากพ.ร.ก.ฯ ผู้ที่สนใจจะออก ICO (มาตรา 17 วรรค 1) หรือได้ออก ICO ไปแล้วซึ่งถูกกำกับด้วย (มาตรา 17 วรรค 2) แนะนำให้อ่านเกณฑ์ IPO และ Post-IPO ของ ก.ล.ต. เตรียมไว้ได้เลย .. คิดว่าส่วนของ ICO อาจจะออกมาในทำนองคล้ายกับ IPO โดยสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียด (ซึ่งเยอะมาก) ได้ที่ี http://law.sec.or.th/

7. การออก ICO จะเสนอขายให้กับนักลงทุนได้เพียงบางประเภทเท่านั้น ซึ่ง ก.ล.ต. จะเป็นผู้กำหนด (มาตรา 18) .. ซึ่งนักลงทุนบางประเภทนั้น ก็อาจจะเป็น Ultra High Net Worth หรือ High Net Worth ต้องรอดูเกณฑ์ ก.ล.ต. ต่อไป

8. การเสนอขาย ICO จะทำได้เมื่อ ก.ล.ต. อนุมัติแบบแสดงข้อมูล (Filing) แล้วเท่านั้น และต้องเสนอขายผ่านระบบที่ ก.ล.ต. เห็นชอบเท่านั้นด้วย (มาตรา 19) /T

9. ก.ล.ต. มีสิทธิกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมกิจการ ของผู้ออก ICO ได้ด้วย (มาตรา 21) และมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ (หรือไม่เห็นชอบ) การแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหาร ผู้ออก ICO ด้วย (มาตรา 29)

10. ผู้ออก ICO ต้องส่งงบการเงินและข้อมูลสำคัญที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนให้กับ ก.ล.ต. ด้วย (มาตรา 25)

11. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ดูข้อ 2) ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคคลัง (มาตรา 26) .. นั่นคือ จะทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องต้องขอไลเซนส์ก่อนด้วย

12. ประเด็นสำคัญที่ ก.ล.ต. ใช้พิจารณาควบคุมการประกอบธุรกิจ (มาตรา 30) คือ

  • การมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการดำเนินงาน
  • ความปลอดภัยของทรัพย์สินลูกค้า
  • การรักษาความปลอดภัยจากการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
  • การมีระบบบัญชีที่เหมาะสมและได้รับการสอบบัญชีจากผู้สอบบัญชีที่ ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ 
  • การมีมาตรการรู้จักลูกค้า ตรวจสอบข้อเท็จจริงของลูกค้า และมาตรการต่อต้านการฟอกเงิน

13. ทรัพย์สินของลูกค้าต้องมีการทำบัญชีแยกแต่ละราย และต้องเก็บแยกออกจากบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจเอง (มาตรา 31 วรรค)

14. หากผู้ประกอบธุรกิจมีฐานะการเงินหรือการดำเนินการที่อาจทำให้ประชาชนเสียหาย และเมื่อ ก.ล.ต. สั่งแก้ไขแล้วไม่ดำเนินการ อาจถูกสั่งให้ระงับการประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราวได้ (มาตรา 35 วรรค 2) และหากยังคงฝ่าฝืน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจเพิกถอนการอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจ (สั่งปิด) ได้ (มาตรา 35 วรรค 3)

15. การปล่อยข่าวเท็จเพื่อปั่นราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นความผิด (มาตรา 40 และ 41) /I

16. การใช้หรือเปิดเผยข้อมูลภายใน (Insider trading) เพื่อเอาเปรียบผู้อื่น ถือเป็นความผิด (มาตรา 42 วรรค 2) โดยให้ถือว่า กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ พนักงานที่รับผิดชอบข้อมูลภายใน เป็นผู้ที่มีข้อมูลภายใน (มาตรา 43)

17. การส่งคำสั่งซื้อขายตัดหน้าลูกค้า (Front run) ถือเป็นความผิด (มาตรา 45)

18. การสร้างปริมาณการซื้อขายที่ผิดปกติ เพื่อปั่นราคา ถือเป็นความผิด (มาตรา 46)

19. พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังนี้ (มาตรา 51)

  • เข้าไปยังที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อตรวจสอบกิจการ
  • เข้าตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจสอบหลักฐานหรือข้อมูลใด ๆ
  • ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอการ หลักฐาน หรือระบบคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาพ.ร.ก.ฯ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี โดยการกระทำดังกล่าว ต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และสิทธิ ให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบด้วย
  • สั่งให้กรรมการ พนักงาน ผู้สอบบัญชี หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งหลักฐานเอกสารต่าง ๆ

20. โทษทางอาญา

  • การเสนอขาย ICO โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือเสนอขาย ICO โดยไม่ทำผ่านผู้ให้บริการระบบที่ ก.ล.ต. เห็นชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่า ICO ที่ระดมทุน โดยจะไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 57)
  • การยื่น Filing ด้วยข้อมูลเป็นเท็จ หรือปกปิดสาระสำคัญที่ควรแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่า ICO ที่ระดมทุน โดยจะไม่น้อยกว่า 500,000 บาท (มาตรา 59)
  • การเสนอขาย ICO ก่อนที่ ก.ล.ต. จะอนุมัติ Filing มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 เท่าของมูลค่า ICO ที่ระดมทุน โดยจะไม่น้อยกว่า 300,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 61)
  • การประกอบธูุรกิจสินทรัพย์ดิิจิทัลโดยไม่รับอนุญาตตามข้อ 11 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปี  และปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท และปรับวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน (มาตรา 65)
  • การใช้บัญชีตัวแทน (Nominee) เพื่อใช้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไม่เป็นธรรม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 73)
  • การขัดขวาง ไม่อำนวยความสะดวก หรือให้ข้อมูลเป็นเท็จ ต่อเจ้าพนักงาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มาตรา 76)
  • กรรมการ ผู้จัดการ หากกระทำการ หรือละเว้นกระทำการ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ชอบ จนเกิดความเสียหายแก่ธุรกิจ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 – 1,000,000 บาท (มาตรา 87)

21. สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน หากจะดําเนินกิจการต่อไป ให้ยื่นคําขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกําหนดนี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกําหนดนี้มีผลใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคําขออนุญาตแล้ว ให้ดําเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าจะมีคําสั่งไม่อนุญาต (มาตรา 100) /F

โดยสรุปแล้ว

  • ฝั่งผู้ออก ICO ต่อไปนี้ต้องปฏิบัติตนไม่ต่างจากการออก IPO ที่เป็นหุ้นในตลาด เช่น การยื่น Filing การส่งงบการเงิน การมีผู้สอบบัญชีที่เชื่อถือได้
  • ฝั่งผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น Exchange ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด และต้องได้รับอนุญาตการประกอบธุรกิจจากภาครัฐ จะดำเนินกิจการไปเองเรื่อย ๆ ไม่ได้
  • ถ้าทำผิดจะมีโทษหนัก โดยเฉพาะด้านกระบวนการ ICO และการต้องได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจเสียก่อน

• อ่านพ.ร.ก.ฯ ฉบับเต็มได้ที่นี่ http://bit.ly/digitalassetslaw1 มีทั้งหมด 100 มาตรา 28 หน้า

ป.ล. สังเกตได้ว่า Digital เขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทยอย่างถูกต้องคือ “ดิจิทัล” ไม่ใช่ ดิจิตอล หรือ ดิิจิตัล /T

(ตัวอย่างสินทรัพย์ดิจิทัลสกุลหลักของโลกเรียงตามมูลค่าตลาด .. ข้อมูลจาก coinmarketcap.com)

———-

นอกจากนั้น ในวันเดียวกัน ก็ได้มีการออกพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล .. ทั้งนี้ ประมวลรัษฏากร คือ ศูนย์รวมกฎเกณฑ์ของภาครัฐในเรื่องการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ /I

22. ให้นำส่วนแบ่งกำไร หรือประโยชน์จากการถือครองโทเคนดิจิทัล มารวมเป็นรายได้พึงประเมิน มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 3) .. ก็คือให้นึกถึงแบบฟอร์มยื่นภาษีเงินได้ที่ต้องกรอกเงินเดือน เงินปันผล ต่อจากนี้จะต้องนำกำไรหรือประโยชน์ที่ได้จากโทเคนดิจิทัล (ที่ได้มาตอนซื้อ ICO หรือซื้อในตลาดรองทีหลัง) มารวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีด้วย

23. ผู้จ่ายส่วนแบ่งรายได้หรือประโยชน์ตามข้อ 22 ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อน ในอัตรา 15% ของเงินได้นั้น (มาตรา 4) /F

• อ่านพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ฉบับเต็ม ได้ที่ http://bit.ly/digitalassetslaw2
• อ่านประมวลรัษฏากร มาตรา 40 และ 50 ฉบับเต็ม ได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/5937.0.html

– รวบรวมและสรุปข้อมูลโดย SJ@TIF

———-

อ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ที่นี่ http://bit.ly/TIF_DigitalAssets

Categories: Digital Asset